ภาพรวมของโครงการ

การสูญเสียการได้ยินเป็นปัญหาที่พบได้ในเด็กแรกเกิดจนถึงปฐมวัย ส่งผลกระทบสำคัญต่อพัฒนาการทั้งทางด้านภาษา การพูด อารมณ์ และการเรียนรู้ ประเทศไทยมีการตรวจคัดกรองการได้ยินสำหรับในเด็กทารกแรกเกิดตามแนวทางข้อตกลงของ JCIH 2007 เพื่อให้สามารถส่งต่อไปยังแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเช่นนักแก้ไขการได้ยินทำการวินิจฉัยโดยละเอียดเพื่อดำเนินการรักษาและฟื้นฟูต่อไปได้อย่างมีประสิทธิภาพทันท่วงที ขณะที่ในวัยหลังแรกเกิด เช่น วัยก่อนเข้าเรียน การคัดกรองการได้ยินมักดำเนินการกับเด็กกลุ่มใหญ่พร้อมกัน ทำให้เครื่องมือที่ใช้ควรมีคุณลักษณะสำคัญ คือ ต้องสามารถตรวจวัดผลได้อย่างรวดเร็ว มีความแม่นยำสูง นอกจากนี้ยังควรมีรูปแบบการใช้งานที่ง่าย ไม่ซับซ้อน เพื่อลดภาระของการต้องพึ่งพาบุคลากรที่มีทักษะสูงด้านการตรวจการได้ยินซึ่งยังมีจำนวนค่อนข้างจำกัดในประเทศไทย

โครงการวิจัยที่เนคเทคดำเนินการ ร่วมกับคณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยขอนแก่น ภายใต้ทุนวิจัยมุ่งเป้าของ วช. ที่ดูแลโดย สวรส. นี้ ตั้งเป้าที่จะพัฒนาชุดเครื่องมือที่ครอบคลุมการตรวจคัดกรองได้หลายระดับตามเงื่อนไขของทรัพยากรเช่น บุคลากรหรืองบประมาณที่มีในพื้นที่นั้นๆ โดยอุปกรณ์เพื่อการคัดกรองการได้ยินในเด็กปฐมวัย เป็นอุปกรณ์แรกของโครงการ มุ่งเน้นการใช้เทคนิค การคัดกรองการได้ยินโดยการชี้ภาพที่สอดคล้องจากการฟังเสียงพูดภาษาไทย พัฒนาให้มีความถูกต้องแม่นยำเหมาะแก่คนไทย สามารถทำงานบนอุปกรณ์ Android Platform ราคาประหยัดที่มีการใช้งานกันอย่างแพร่หลาย

Technical Challenge:
- การออกแบบคำศัพท์ภาษาไทยที่เหมาะสมในการคัดกรองการได้ยินในเด็กปฐมวัย
- วิธีการปรับจูนความดังเสียง ให้ได้ระดับความดังเสียงที่มีค่าใกล้เคียงความดังเสียงมาตรฐาน
- ออกแบบอัลกอริทึ่มที่ใช้ในการคัดกรอง ให้มีความไวและความแม่นยำในการทดสอบที่เหมาะสม

ประวัติความเป็นมา

เด็กที่มีความบกพร่องทางการได้ยิน คือ เด็กที่ไม่สามารถได้ยินได้เทียบเท่ากับบุคคลที่มีความสามารถในการได้ยินปกติที่สามารถรับฟังเสียงด้วยหูทั้ง 2 ข้างตั้งแต่ระดับ 25 เดซิเบลขึ้นไป ซึ่งจะถือว่าเป็นบุคคลที่สูญเสียการได้ยิน (Hearing loss) ซึ่งจำแนกออกได้เป็น 4 ระดับ คือ

- หูตึงน้อย (Mild)
- หูตึงปานกลาง (Moderately Severe)
- หูตึงมาก (Severe)
- หูตึงรุนแรง (Profound)

โดยความบกพร่องทางการได้ยินสามารถเกิดได้กับหูข้างเดียวหรือทั้ง 2 ข้าง และเป็นสาเหตุของความยากลำบากในการได้ยินเสียงพูดหรือแม้กระทั่งเสียงที่ดังก็ตาม

ปัจจุบันมีเครื่องมือที่สามารถใช้เพื่อการคัดกรองความบกพร่องการได้ยินที่ได้มาตรฐานอยู่หลากหลาย เช่น Audiometer, Tympanometer, OAE อย่างไรก็ตามอุปกรณ์เหล่านี้ยังมีราคาแพง มีใช้เป็นหลักแต่เพียงในสถานพยาบาล รองลงมาจะมีแอพพลิเคชั่นที่เกี่ยวข้องอยู่บ้าง เช่น

Hearing Test ของ e-audiologia.pl เป็นแอพพลิเคชันบนแอนดรอยด์ที่มีทั้งแจกฟรีและจ่ายเงินซื้อ ตัวแอพพลิเคชันจะทำการตรวจหูด้วยความถี่เสียง 250 Hz – 8,000 Hz โดยระบบจะปรับความดังเสียงแบบอัตโนมัติ เมื่อผู้ทดสอบได้ยินเสียงให้กดปุ่มที่หน้าจอ หรือถ้าไม่ได้ยินเสียงก็ให้กดปุ่มที่หน้าจอ เมื่อทดสอบเสร็จจะแสดงผลเป็นกราฟออกมา

Test Your Hearing ของ EpsilonZero เป็นแอพพลิเคชันบนแอนดรอยด์ที่แจกฟรี ตัวแอพพลิเคชันจะทำการตรวจหูด้วยความถี่เสียง 9.7 Hz – 20,000 Hz โดยผู้ใช้งานจะปรับความดังเสียงและปรับความถี่เสียงเอง เมื่อผู้ใช้งานได้ยินเสียงให้กดปุ่มที่หน้าจอ หรือถ้าไม่ได้ยินเสียงก็ให้กดปุ่มที่หน้าจอ เมื่อทดสอบเสร็จจะแสดงผลว่าหูเสียช่วงความถี่สูงหรือความถี่ต่ำ

Eartone ของ Manut Utoomprurkporn เป็นแอพพลิเคชันบนแอนดรอยด์ที่แจกฟรี ตัวแอพพลิเคชันจะทำการตรวจหูด้วยความถี่เสียง 250 Hz – 8,000 Hz โดยระบบจะปรับความดังเสียงแบบอัตโนมัติ เมื่อผู้ทดสอบได้ยินเสียงให้กดปุ่มที่หน้าจอ เมื่อทดสอบเสร็จจะแสดงผลเป็นกราฟออกมา สามารถส่งผลการตรวจผ่านแอพพลิเคชันไปยัง Clinic Eartone เพื่อนัดพบแพทย์แก้ปัญหาได้

จากการทบทวนดูแอพพลิเคชันที่มีใช้งานในปัจจุบัน จะเห็นได้ว่าใช้เทคนิคการตรวจจากความถี่เสียงบริสุทธ์ ซึ่งต่างจากผลงานนี้ ที่ตั้งเป้าที่จะพัฒนาชุดเครื่องมือที่ครอบคลุมการตรวจคัดกรองในเด็กปฐมวัยแบบพกพาสะดวก และราคาถูก โดยมุ่งเน้นการใช้เทคนิคการคัดกรองการได้ยินโดยการชี้ภาพที่สอดคล้องจากการฟังเสียงพูดภาษาไทย ซึ่งไม่มีใครทำมาก่อน สามารถพัฒนาให้มีความถูกต้องแม่นยำเหมาะแก่คนไทย ซึ่งจะเป็นทางเลือกที่หลากหลายแก่ผู้ต้องการนำอุปกรณ์เหล่านี้ไปใช้ในระบบบริการในไทย

วัตถุประสงค์

เพื่อพัฒนาชุดอุปกรณ์สำหรับตรวจคัดกรองการได้ยินในเด็กไทยก่อนวัยเรียนที่มีประสิทธิภาพและคุณภาพดี ราคาไม่แพง ซึ่งทำงานบน Android Platform สามารถใช้ตรวจคัดกรองการได้ยินด้วยวิธีการฟังเสียงพูดที่ระดับความดังต่ำที่สุดที่ผู้ถูกตรวจสามารถเข้าใจคำพูดที่ได้ยิน (Minimal Speech Recognition Level)

อุปกรณ์เพื่อการคัดกรองการได้ยินในเด็กปฐมวัย จะประกอบด้วย
- Android tablet หรือ iPad
- Headphone

สามารถอธิบายคุณลักษณะได้ดังนี้
- รองรับหูฟังแบบหลากกลาย โดยหูฟังมี่เลือกใช้ในการทดสอบในเบื้องต้น
- โปรแกรมทำการตรวจวัดแบบอัตโนมัติด้วยเสียงพูดภาษาไทยที่ความดัง 20 dbHL, 30 dbHL, 40 dbHL
- มีการบันทึกผลการทดสอบและแจ้งคำแนะนำจากผลการทดสอบที่วิเคราะห์ได้
- สามารถดูผลการทดสอบย้อนหลังได้
- สามารถทดสอบซ้ำได้
- สามารถเลือกอัพเดทค่า Calibrate หูฟังแบบ Online ได้